ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ล้วนเคยผ่านประสบการณ์ที่ตนเองหรือคนใกล้ชิด สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกอย่างไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็มักจะคิดว่าสาเหตุทั้งหมดมาจากความเครียด จึงไม่ได้สนใจสัญญาณเตือนของร่างกาย ลองสังเกตตัวเองดูนะคะ หากเกิดอาการแบบนี้ขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นั่นอาจหมายความว่า ร่างกายกำลังบ่งบอกถึงภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับ ซึ่งมันอาจร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต
เนื้อหา
1 ไขสาเหตุปัญหานอนกรน ส่งตรงจากคุณหมอ
2 ลองสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ ?
3 ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับคืออะไร?
4 แล้วภาวะหยุดหายในขณะนอนหลับร้ายแรงขนาดไหน?
5 ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
6 จะรักษาภาวะหยุดหายในขณะนอนหลับได้อย่างไร?
7 สรุปแล้ว การสะดุ้งตื่นกลางดึก เป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามจริงหรือไม่?
ไขสาเหตุปัญหานอนกรน ส่งตรงจากคุณหมอ
จากบทความของโรงพยาบาลกรุงเทพ (BANGKOK HOSPITAL) บอกไว้ว่า การสะดุ้งตื่นกลางดึก มีสาเหตุมาจากหลายประการ ถ้าการสะดุ้งตื่นกลางดึกของเรา เรารู้สึกสำลักเหมือนขาดอากาศหายใจ มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดมาจากลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายกว่าปกติ ซึ่งจะพบได้ในผู้ป่วยที่เกิด ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นั่นเอง
ลองสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ ?
– นอนกรน บางคนก็อาจจะนอนกรนเสียงดังมากด้วย
– ง่วนนอน หรือรู้สึกอ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน
– นอนหลับไม่สนิท นอนกระสับกระส่าย
– ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
– หลงลืมบ่อย ความจำไม่ค่อยดี ไม่มีสมาธิ
– หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
– รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย แสดงว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ!!
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับคืออะไร?
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ(Sleep Apnea) เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับ เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน บางครั้งอาจตีบลงจนอุดกั้นทางเดินหายใจของเราอย่างสมบูรณ์ ในจังหวะนี้ จะพบว่าไม่มีอากาศไหลผ่านเข้าสู่ปอดได้เลย
ภาวะนี้พบผู้ป่วยได้ในทุกช่วงอายุ โดยพบประมาณ 25% ในผู้ชาย และ 10% ในผู้หญิง และภาวะนี้จะมีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
แล้วภาวะหยุดหายในขณะนอนหลับร้ายแรงขนาดไหน?
ความร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น แบ่งเป็น ความร้ายแรงที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และความร้ายแรงที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
จากบทความของ รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน จากภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ความร้ายแรงที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็คือ ถ้ามีการหยุดหายใจหลาย ๆ ครั้งในขณะนอนหลับ จะส่งผลให้ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ออกซิเจนในเลือดต่ำลง สมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองได้รับออกซิเจนน้อย ก็จะปลุกตัวเราให้เริ่มหายใจใหม่ เมื่อหายใจไปเรื่อย ๆ แล้วเริ่มมีการหายใจขัดขึ้นมาอีก จนสมองได้รับออกซิเจนน้อย สมองก็จะปลุกตัวเราให้เริ่มหายใจใหม่ วนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนได้ไม่เต็มอิ่ม ปวดศีรษะ ตื่นมาพร้อมกับอาการง่วงมาก เหมือนไม่ได้นอนทั้ง ๆ ที่นอนเต็มที่
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ความร้ายแรงที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ก็คือ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เพราะการนอนหลับพักผ่อนได้ไม่เต็มอิ่ม จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต กระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของผู้ป่วยรายนั้น ๆ อาจส่งผลไปถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาการมองเห็น ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา และปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมา
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณจะเห็นว่าไม่ว่าความร้ายแรงที่เกิดจากภาวะหยุดหายในขณะหลับ หรือ ความร้ายแรงที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ก็ล้วนแต่จะมีอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนเสียชีวิตได้
จะรักษาภาวะหยุดหายในขณะนอนหลับได้อย่างไร?
การรักษาที่ดีที่สุดสำหรับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับคือการพบแพทย์ เนื่องจากในการวินิจฉัยและการรักษา จำเป็นต้องอาศัย ประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษเพิ่มเติมประกอบกัน ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจหาความผิดปกติและตรวจวัดระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ถ้าอาการอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนนอน
แต่ถ้าอาการอยู่ในที่รุนแรง แพทย์ก็จะมีวิธีการรักษาโดยมีเครื่องมือเข้ามาช่วย การรักษาโดยการใช้ยา การรักษาโดยการผ่าตัด หรือการรักษาโดยวิธีอื่น ๆ แล้วแต่บุคคล ซึ่งแพทย์จะต้องวินิจฉัยและเลือกรูปแบบการรักษาตามอาการและความจำเพาะของแต่ละบุคคลไป
สรุปแล้ว การสะดุ้งตื่นกลางดึก เป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามจริงหรือไม่?
คำตอบคือ จริง!! การพักผ่อนที่ดีที่สุดของคนเราก็คือการนอนหลับ แต่ถ้าการนอนหลับของเราถูกรบกวน ด้วยการสะดุ้งตื่นอยู่บ่อยครั้ง ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนที่นอนหลบไม่สนิท ตื่นมาก็งัวเงีย เพลียไปทั้งวัน เป็นบ่อย ๆ เข้าก็กระทบการดำเนินชีวิตประจำวัน กระทบสุขภาพกาย กระทบสุขภาพจิตใจอีก
เห็นไหมคะ อาการแบบนี้ต้องรีบรักษา ร่างกายอุตส่าห์ส่งสัญญาณมาขนาดนี้ ถ้าไม่รีบหาหมอด่วน ๆ ก็คงไม่ได้แล้ว
ฝากถึงใครที่มีอาการแบบนี้ หรือคนใกล้ชิดมีอาการแบบนี้ อย่าลืมสะกิด แล้วชวนกันไปหาหมอนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services-th/neuroscience-center-th/item/1263-obstructive-sleep-apnea-th.html
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=332